เมื่อชีวิตใกล้ชิดเทคโนโลยีมากขึ้น ความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตก็มากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องนั่งจำเบอร์โทรศัพท์ เลขที่บ้านของเพื่อนอีกต่อไป บวกลบคูณหารในใจก็ไม่จำเป็น หรือแม้กระทั่งการหาคำศัพท์ในภาษาต่างประเทศ และข้อมูลอื่นๆ เราหาคำตอบได้เพียงปลายนิ้วคลิกผ่าน Google ที่ไม่ว่าจะหาข้อมูลอะไรก็เจอ
แต่การใช้ Google เป็นประจำ อาจเพิ่มความเสี่ยงให้คุณ “สมองเสื่อม” ได้
ในรายงานการศึกษาเมื่อปี 2011 ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ Google Effects on Memory: Cognitive Consequences of Having Information at Our Fingertips (ผลกระทบจาก Google ที่มีต่อความจำ : ผลลัพธ์จากกระบวนการคิด ของการได้รับข้อมูลผ่านปลายนิ้ว) ที่เก็บข้อมูลจากนักศึกษา พบว่าพวกเขาไม่สามารถจำข้อมูลต่างๆ ในอดีตได้ เพราะพวกเขามั่นใจว่าเป็นข้อมูลที่สามารถค้นหาได้ผ่าน Google
Christopher Winter นักประสาทวิทยาที่รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การที่สมองของเรารับรู้ว่า “ไม่ต้องจำข้อมูลเหล่านี้” เพราะสามารถค้นหาข้อมูลเหล่านั้นได้ง่ายๆ ทำให้สมองของเราไม่มีการเตรียมรับข้อมูลใดๆ เพิ่ม ไม่เตรียมให้ข้อมูลเหล่านั้นเป็น long-term memory หรือความจำระยะยาว และอาจลดขนาดของการรับข้อมูลให้กลายเป็นความจำด้วย (memory capacity)
ในขณะเดียวกัน หากเป็นการ “จำข้อมูล” ด้วยตัวเอง เหมือนสมัยก่อนที่ยังไม่สามารถเข้าถึง Google ได้ง่ายๆ เราต้อง “จำ” ข้อมูลเหล่านั้นเป็น “ภาคบังคับ” แม้ว่าจะเกิดความเครียดขณะสร้างความจำเหล่านั้น แต่ในบางครั้งความเครียดเล็กน้อยนี้ก็ส่งผลดีให้สมองได้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก sanook.com