LOMTOE.CLUB

ufafat
police | 08 / 01 / 2020 16:55
วัดความพร้อม,กองกำลัง,แสนยานุภาพ-หากอิหร่านเปิดศึกรบสหรัฐ

ไออาร์จีซีมีกองกำลังทางเรือและอากาศของตนเอง และควบคุมดูแลอาวุธเชิงยุทธศาสตร์ของอิหร่าน
ขนาดกองทัพอิหร่าน

     สถาบันระหว่างประเทศว่าด้วยการศึกษาด้านยุทธศาสตร์ของสหราชอาณาจักร ประเมินว่า อิหร่านมีทหารที่พร้อมประจำการรบ 523,000 นาย ในจำนวนนี้ รวมถึงทหารในกองทัพปกติ 350,000 นาย และอีกอย่างน้อย 150,000 นาย ในกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม หรือไออาร์จีซี

     นอกจากนี้ ยังมีกำลังพลของไออาร์จีซีอีก 20,000 นาย ซึ่งทำหน้าที่ใช้เรือรบลาดตระเวนในช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นจุดที่เกิดการเผชิญหน้ากับเรือบรรทุกน้ำมันต่างชาติหลายครั้งในปี 2019
ไออาร์จีซี ยังควบคุมหน่วยบาซีจ (Basij) ซึ่งเป็นกองกำลังอาสาที่ช่วยปราบปรามความไม่สงบในประเทศ

     อิหร่านสามารถระดมพลจากกองกำลังนี้ได้หลายแสนคนเลยทีเดียว สำหรับไออาร์จีซีนั้น ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อน เพื่อพิทักษ์ระบอบอิสลามในอิหร่าน และได้กลายเป็นกองทัพขนาดใหญ่ ขั้วอำนาจการเมือง และผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของอิหร่าน แม้ว่าไออาร์จีซีมีกำลังพลน้อยกว่ากองทัพหลักของอิหร่าน แต่ถือว่าเป็นกองกำลังทหารที่มีอำนาจเด็ดขาดมากที่สุดในประเทศ

แสนยานุภาพในต่างแดน

     หน่วยรบพิเศษคุดส์ ที่นำโดยพลตรีสุเลมานี ได้ดำเนินปฏิบัติการลับในต่างประเทศให้กับไออาร์จีซี และขึ้นตรงต่อผู้นำสูงสุดอิหร่าน อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี โดยเชื่อว่าหน่วยคุดส์มีกองกำลังมากถึง 5,000 นาย ส่วนในอิรัก หน่วยคุดส์ได้สนับสนุนกองกำลังกึ่งทหารชาวชีอะห์ ที่ช่วยรบมีชัยเหนือกลุ่มไอเอส หรือรัฐอิสลาม

     อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า หน่วยรบพิเศษคุดส์มีบทบาทมากกว่านั้น ทั้งการสนับสนุนเงินทุน การฝึกฝน อาวุธ และยุทโธปกรณ์ให้กับองค์กรในตะวันออกกลางที่สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเป็นองค์กรก่อการร้าย รวมถึงกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน และกลุ่มฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์

     แต่ปัญหาเศรษฐกิจและมาตรการคว่ำบาตร เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าอาวุธ ทำให้อิหร่านมีอาวุธยุทโธปกรณ์น้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค
กองกำลังไออาร์จีซีของอิหร่านควบคุมเรือบรรทุกน้ำมันอังกฤษในช่องแคบฮอร์มุซ ปี 2019

     สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์มของสวีเดนชี้ว่า อิหร่านนำเข้ายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ ช่วงปี 2009 ถึง 2018 มีมูลค่าเพียง 3.5% ของการนำเข้าอาวุธของซาอุดีอาระเบียในช่วงเวลาเดียวกันอิหร่านนำเข้าอาวุธส่วนใหญ่จากรัสเซีย ที่เหลือนั้นมาจากประเทศจีน

อิหร่านมีขีปนาวุธหรือไม่

     คำตอบคือ 'มี' และขีปนาวุธถือเป็นแสนยานุภาพทางทหารที่สำคัญ เพราะอิหร่านขาดแคลนแสนยานุภาพทางอากาศ เมื่อเทียบกับชาติคู่อริอย่างอิสราเอล และซาอุดีอาระเบีย รายงานฉบับหนึ่งของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า อิหร่านมีขีดความสามารถด้านขีปนาวุธมากที่สุดในตะวันออกกลาง ขีปนาวุธที่อิหร่านมีส่วนใหญ่เป็นแบบพิสัยใกล้ และพิสัยกลาง รายงานยังชี้ว่า อิหร่านดำเนินการทดสอบเทคโนโลยีอวกาศ เป็นฉากหน้า เพียงเพื่อพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป ซึ่งสามารถโจมตีเป้าหมายได้ไกลขึ้น

     แต่สถาบันรอยัลยูไนเต็ดเซอร์วิส หรือรูซิ (RUSI) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยอิสระระดับโลก ระบุว่า โครงการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลของอิหร่านต้องชะงักลง ตามข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อปี 2015 กับนานาชาติ แต่ก็เสริมว่า โครงการอาจกลับมาเดินหน้าต่อ เพราะข้อตกลงนิวเคลียร์ขาดความชัดเจน ไม่ว่าอย่างไร ขีปนาวุธพิสัยใกล้และพิสัยกลางของอิหร่าน สามารถโจมตีเป้าหมายในซาอุดีอาระเบียและชาติในแถบอ่าวอาหรับ รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่จะโจมตีเป้าหมายได้ไกลถึงอิสราเอล

อาวุธอื่น ๆ ที่มี

     แม้เผชิญมาตรการคว่ำบาตรหนักหน่วงหลายปี แต่อิหร่านประสบความสำเร็จในการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ข้อมูลจากรูซิระบุว่า อิหร่านได้ใช้โดรนในอิรักมานับแต่ปี 2016 เพื่อต่อสู้กับกลุ่มไอเอส อิหร่านยังบังคับโดรนติดอาวุธจากฐานทัพในซีเรียเข้าไปในน่านฟ้าอิสราเอล ในเดือน มิ.ย. 2019 อิหร่านยิงโจมตีโดรนสังเกตการณ์ของสหรัฐฯ โดยอ้างว่า ล่วงล้ำน่านฟ้าอิหร่านเหนือช่องแคบฮอร์มุซ

     สหรัฐฯ กล่าวหาอิหร่านว่าสนับสนุนอาวุธให้กลุ่มกบฏในเยเมน โจนาธาน มาร์คัส ผู้สื่อข่าวสายกลาโหมและการทูตของบีบีซี วิเคราะห์ว่า สิ่งที่น่าพิจารณา สำหรับโครงการโดรนของอิหร่าน คือ ความยินยอมพร้อมใจที่จะขายหรือถ่ายโอนเทคโนโลยีโดรนให้กับพันธมิตร และกองกำลังตัวแทนของอิหร่านในภูมิภาค

     ในปี 2019 เกิดการโจมตีด้วยโดรนและขีปนาวุธ สร้างความเสียหายต่อสิ่งก่อสร้างในโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่งของซาอุดีอาระเบีย ทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบียเชื่อมโยงการโจมตีดังกล่าวกับอิหร่าน แม้ว่าอิหร่านปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และชี้ว่ากลุ่มกบฏในเยเมนเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

แสนยานุภาพด้านไซเบอร์เป็นอย่างไร

     นับแต่สำนักงานโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านถูกโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ในปี 2010 อิหร่านได้ยกระดับความสามารถในโลกไซเบอร์มากขึ้น เชื่อกันว่า ไออาร์จีซี มีศูนย์ปฏิบัติการไซเบอร์ของตนเอง เพื่อใช้ในการจารกรรมทางการพาณิชย์และการทหาร

     รายงานฉบับหนึ่งของกองทัพสหรัฐฯ ในปี 2019 ระบุว่า อิหร่านได้พุ่งเป้าจารกรรมทางไซเบอร์ไปยังบริษัทด้านอากาศยาน ผู้รับเหมาทางกลาโหม บริษัทด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงบริษัทโทรคมนาคม ทั่วโลก

     บริษัท ไมโครซอฟต์ ในปี 2019 ยังระบุว่า กลุ่มแฮคเกอร์ที่ "มาจากอิหร่านและมีส่วนเชื่อมโยงกับรัฐบาลอิหร่าน" ได้พุ่งเป้าโจมตีการรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และพยายามเจาะบัญชีส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่อเมริกันหลายคน

เครดิต : https://www.bbc.com/thai/international-50992378