เจาะลึกศึก โคปา อเมริกา 2015
ศึกชิงแชมป์ที่ใหญ่ที่สุดของทวีปอเมริกาใต้หรือ โคปา อเมริกา 2015 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 44 ในวันที่ 11 มิถุนายน ถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2015 โดยมี ชิลี เป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นการจัดแข่งขันภายใต้การควบคุมของ "คอนเมโบล" หรือ สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งอเมริกาใต้
"จอมโหด" อุรุกวัย เตรียมลงป้องกันแชมป์ หลังจากคว้าโทรฟี่สมัยที่ 15 ในดินแดนอาร์เจนติน่าเมื่อปี 2011 อย่างไรก็ดีการแข่งขันหนนี้มีประเทศรับเชิญจากโซน "คอนคาเคฟ" หรืออเมริกากลาง ด้วยกันสองทีมได้แก่ เม็กซิโกและ จาไมก้า ซึ่งผู้ชนะจากทัวร์นาเม้นต์นี้จะได้สิทธิ์ไปแข่งขันในศึก ฟีฟ่า คอนเฟเดเรชั่นส์ คัพ 2017 ที่ประเทศรัสเซียเป็นเจ้าภาพ
เดิมทีประเทศบราซิลได้ถูกเสนอชื่อให้เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันครั้งนี้ โดยมีสมาคมฟุตบอลบราซิล (CBF) เป็นผู้ดำเนินการในเดือน กุมภาพันธ์ 2012 แต่เนื่องด้วยมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการจัดทัวร์นาเม้นต์ของ คอนเมโบล เล็กน้อยเพราะ บราซิล ต้องเป็นเจ้าภาพกีฬาระดับนานาชาติหลายรายการติดต่อกันในช่วง 4 ปี ได้แก่ ฟีฟ่า คอนเฟเดเรชั่นส์ คัพ 2013, ฟีฟ่า เวิลด์ คัพ 2014 และโอลิมปิกฤดูร้อน 2016 รวมถึงการแข่งขันครั้งนี้ที่คาดว่าจะได้เป็นเจ้าภาพด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี นิโคลัส เลออส ประธานของ คอนเมโบล มีความเห็นว่าอาจให้มีการจัดการแข่งขันนอกทวีปโดยมี เม็กซิโก เป็นเจ้าภาพ (แม้ว่าประเทศนี้จะไม่ได้เป็นสมาชิกของ คอนเมโบล) ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองการก่อตั้งสมาพันธ์ครบ 100 ปี แต่แล้วทาง บราซิลและ ชิลีได้ปรึกษาหารือในเรื่องดังกล่าว และมีข้อเสนอให้มีการสลับเจ้าภาพกันระหว่างทัวร์นาเม้นต์ในปี 2015 กับ 2019 เพื่อให้ประเทศบราซิลได้เว้นช่วงในการจัดการแข่งขันเพื่อต้อนรับ โอลิมปิกฤดูร้อน ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2016 ซึ่งการสลับกันครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน พฤษภาคม 2012
ลูกฟุตบอลที่ใช้แข่งขัน
ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2014 มีการเปิดเผยลูกฟุตบอลที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ที่สนาม เอสตาดิโอ นาซิอองนาล โดยมีชื่อว่า "ไนกี้ กาชานญ่า" ซึ่งมีซูเปอร์สตาร์ดังของทีมชาติชิลีอย่าง อาร์ตูโร่ วิดัล เป็นพรีเซ็นเตอร์ ส่วนการออกแบบลูกบอลนั้นมาจากส่วนหนึ่งของธงชาติชิลี ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพ และให้ความหมายของสีแดงหมายถึง "ผู้คน" ส่วนสีน้ำเงินหมายถึง "ท้องฟ้าของชาวชิลี" และสีขาวคือความเป็นปึกแผ่น นั่นหมายความถึงภูมิศาสตร์ของประเทศนี้
มาสค็อต
สำหรับมาสค็อตประจำการแข่งขันครั้งนี้จะใช้ชื่อว่า "ซินช่า" ซึ่งเป็นจิ้งจอกทะเลทรายหนุ่ม โดยมีการเปิดเผยข้อมูลครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2014
สนามที่ใช้แข่งขัน
ใช้สนามทั้งสิ้น 9 สนามจาก 8 เมืองในการจัดทัวร์นาเม้นต์นี้
1. เอสตาดิโอ เรจิโอนัล เด อันโตฟากัสต้า - เมือง อันโตฟากัสต้า (ความจุ 21,178 ที่นั่ง)
2. เอสตาดิโอ เซาซาลิโต้ - เมือง บินญ่า เดล มาร์ (ความจุ 22,340 ที่นั่ง)
3. เอสตาดิโอ นาซิอองนาล - เมือง ซานติเอโก้ (ความจุ 48,665 ที่นั่ง)
4. เอสตาดิโอ โมนูเมนตัล ดาบิด อเรญาโน่ - เมือง ซานติเอโก้ (ความจุ 47,347 ที่นั่ง)
5. เอสตาดิโอ มูนิซิปัล เด คอนเซ็ปซิออง - เมือง คอนเซ็ปซิออง (ความจุ 30,448 ที่นั่ง)
6. เอสตาดิโอ ลา ปอร์ตาด้า - เมือง ลา เซเรน่า (ความจุ 17,194 ที่นั่ง)
7. เอสตาดิโอ เอลิอาส ฟิเกรัว - เมือง บัลปาราอิโซ่ (ความจุ 20,575 ที่นั่ง)
8. เอสตาดิโอ เอล เตนิเอ็นเต้ - เมือง รานกากัว (ความจุ 15,252 ที่นั่ง)
9. เอสตาดิโอ มูนัลซิปัล เกร์มัน เบ็คเกร์ - เมือง เตมูโก้ (ความจุ 18,396 ที่นั่ง)
ตัวแทนจาก 12 ชาติที่ลงทำการแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้
กลุ่ม A
- ชิลี (เจ้าภาพ)
- เม็กซิโก (รับเชิญ)
- เอกวาดอร์
- โบลิเวีย
กลุ่ม B
- อาร์เจนติโน่
- อุรุกวัย (แชมป์เก่า)
- ปารากวัย
- จาไมก้า (รับเชิญ)
กลุ่ม C
- บราซิล
- โคลอมเบีย
- เปรู
- เวเนซูเอล่า
miyavi
11 / 06 / 2015 21:06